เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “เมื่อสื่อมวลชนกลายเป็นผู้เล่นหลักในสายตาผู้รับสาร : ทบทวนบทบาทสื่อจากข่าวกรณีดาราพลัดตกเรือ” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดงาน ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน มาร่วมแสดงความเห็น วิทยากรประกอบด้วย คุณอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าวสามมิติ คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการกลุ่มข่าวสืบสวน ThaiPBS คุณพรวดี ลาทนาดี ผู้ประกาศข่าว ThaiPBS รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ และผศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร
การเสวนา “เมื่อสื่อมวลชนกลายเป็นผู้เล่นหลักในสายตาผู้รับสาร : ทบทวนบทบาทสื่อจากข่าวกรณีดาราพลัดตกเรือ” โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อพบร่างของผู้สูญเสีย สิ่งที่ตามมาคือการที่สังคมพยายามหาเหตุผล พยายามหาข้อมูลเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดทั้งข่าวจริงและข่าวลวง ข่าวจึงเปลี่ยนจากข่าวธรรมดาเป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าวสามมิติ กล่าวว่า ครั้งแรกที่ทราบเรื่องคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่คนให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือ ไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องบานปลาย กลายเป็นประเด็นกระหึ่มโลกโซเชียล กลายเป็นโลกโซเชียลคุมโลกสื่อมวลชนปกติไปอย่างสิ้นเชิง คิดว่าต้องติดตามทำข่าวเรื่องนี้ไปสัก 5-6 วันเรื่องคงได้ข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่คิดว่าจะบานปลายจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์จนมาถึงวันนี้ (15 มีนาคม) ยาวนานจากห้าวันเป็นครึ่งเดือนเป็นเดือน ทำให้รู้สึกว่าประสบการณ์ของของนักข่าวที่ทำงานกว่า 30 ปี ต้องมาประเมินเรื่องนี้อย่างลำบาก กลายเป็นเรื่องที่ตำรวจเองก็ไม่กล้าที่จะสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือ มีประเด็นใหม่ๆที่มีเหตุมีผลและไม่มีเหตุผลเกิดขึ้นมาก
“คนทำงานในโลกสื่อมวลชนยุคเก่าต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อสมัยนี้เพื่อรับมือให้ทัน ประสบการณ์เราคิดว่าเรื่องนี้จะจบเร็วกลายเป็นไม่จบ ข่าวที่เกิดขึ้น มีการรายงานข่าวด้วยข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามรูปแบบของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน แต่มันกลายเป็นมีการหาคำตอบที่เกินกว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวน แทนที่จะปักธงว่ามีประเด็นอะไรบ้างแล้วอธิบายไปทีละเรื่อง กลายเป็นนักข่าวสืบสวนช้ากว่าโซเชียล ในขณะที่กำลังอธิบายไปทีละประเด็น โซเชียลให้ข้อมูลออกมามากกว่า คนทำข่าวที่พยายามอธิบายประเด็นที่หนึ่ง กลายเป็นโซเชียลที่อธิบายเลยไปถึงประเด็นที่สี่ที่ห้า กลายเป็นว่าหยุดดูข่าวสิบนาทีกลายเป็นตกข่าวไปเลย มันมีข่าวใหม่เกิดขึ้นตลอดนักข่าวสืบสวนยังเช็กประเด็นแรกอยู่เลย ไม่ปฏิเสธว่าโซเชียลมีเดียช่วยอธิบายประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์แต่ก็มีบางส่วนที่พาให้เกิดความไขว้เขว นักข่าวเองบางทีก็สงสัยว่าเราตกข่าวหรือเปล่า และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เชื่อในสิ่งที่เป็นประเด็นส่วนใหญ่บนโซเชียล เรายังคงทำงานโดยยึดตามหลักการของเรา เราปักธงแล้วค่อยๆ ทำไป เราฟังโซเชียลด้วยแต่เราทำการตรวจสอบ ไม่ใช่เชื่อทั้งหมดที่โซเชียลเชื่อ”
นักข่าวหลายช่องทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 10 สำนักที่ทำหน้าที่รายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนไม่ได้ทำหน้าที่ตามกระแสโซเชียล แต่คนไม่ดู คนดูกลับไปติดตามสื่อที่ทำงานโดยหวังผลจากกระแสช่วยเลี้ยงให้คนติดตาม นโยบายทางธุรกิจจำเป็นที่สื่อต้องให้พื้นที่กับข้อมูลที่เป็นกระแสเพื่อให้คนติดตาม คนดูต้องเลือกที่จะติดตามข่าวแบบไหน ข้อมูลในโซเชียลไม่ใช่ขยะแต่ต้องกลั่นกรอง ขอให้คิดว่าโซเชียล คือแหล่งข้อมูล แต่ต้องเลือกที่จะเอามาใช้แล้วบอกคนดูว่าควรจะเชื่อยังไง สำหรับการรายงานข่าว การทำข่าวเชิงคุณภาพหรือทำข่าวที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งนั้น ขอให้มีกรอบจรรยาบรรณด้วย การรายงานข่าวดาราครั้งนี้ให้บทเรียนกับการวางแผนรับมือกับกระแสข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากในแต่ละวัน สื่อจะรู้ว่าควรเลือกและกรองอย่างไร คนดูได้ประสบการณ์ควรเลือกรับข้อมูลอย่างไร
ด้าน นายคณิศ บุญยพานิชย์ บรรณาธิการกลุ่มข่าวสืบสวนไทยพีบีเอส กล่าวว่า ข่าวแตงโม (นิดา พัชรพีระพงษ์) เป็นปรากฏการณ์ข่าวที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่เคยเจอเรื่องราวที่ไปไกลจนไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ วันแรกที่เจอนักข่าวไปทำงานตามปกติ คนที่ทำข่าวอาชญากรรมต้องคิดว่าต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น การเสียชีวิตของคนดังก็เหมือนข่าวข่าวหนึ่ง ที่ต้องไปหาเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น ในการรายงานข่าวสื่อกระแสหลักบางทีก็เชื่อโซเชียลแล้วมารายงาน กลับกลายเป็นสื่อเอาโซเชียลมีเดียมาเป็นแหล่งข่าว แล้วรายงานในสิ่งที่โซเชียลรายงาน สื่อเอาสิ่งที่นักสืบออนไลน์ไปหามามารายงานมาขยายความต่อ ทำให้ประเด็นไปไกล แทนที่สื่อจะทำงานไปตามขั้นตอนในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน
“หลักการของการทำข่าวสืบสวนคือการหาข้อมูลมาตรวจสอบหรือพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดถึงหรือสิ่งที่คนให้การเป็นไปได้หรือไม่ นักข่าวพยายามหาคำตอบของตัวเอง คนทำงานสื่อกระแสหลักกลับไปส่งเสริมให้ประเด็นที่ไม่มีน้ำหนักถูกขยายวงกว้าง นักข่าวโซเชียลช่วยงานได้เยอะมา ขุดหาข้อมูลได้มาก บางเรื่องเป็นส่วนที่เป็นคำตอบที่เป็นประโยชน์ ขณะที่สื่อกระแสหลักไปหยิบคอนเทนต์ที่ไม่น่าจะเป็นประเด็นมาเป็นข่าว ถึงเวลาที่ต้องทบทวนว่าเราต้องตั้งหลักว่าเมื่อต้องหาข้อมูลแหล่งข่าวแบบไหนน่าเชื่อถือ”
ขณะที่การรายงานข่าวมีความพยายามให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ความเห็น แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหมอดูหรืออ้างว่า รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร จะมีหลักฐานอะไรปรากฏเกิดขึ้น เรื่องเหนือธรรมชาติบางเรื่องรับฟังได้ บางเรื่องอาจจะไม่มีเหตุไม่มีผล สื่อต้องชั่งน้ำหนักดีๆ บทบาทของสื่ออาชีพ การหยิบเนื้อหาแบบนี้มารายงานไม่ใช่ทำไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมาก แต่การจะเอามารายงานโดยไม่ทำอะไรกับมันเลย เอาปรากฏการณ์นี้มาทำให้คนดูเข้าใจโดยไม่ได้ทำหน้าที่ให้คนมีหลักว่าควรมองเรื่องนี้อย่างไร สื่อไม่ได้ระมัดระวังกับข้อมูลที่หลั่งไหลจำนวนมาก รวมกับการายงานแบบรายการนิวส์โชว์ ผู้นำเสนอไม่ได้รายงานหรือถามข้อเท็จจริงแต่ไปทำหน้าที่เหน็บแนมคนที่เชิญมาด้วย สื่อต้องพิจารณาว่าสิ่งใดทำได้แค่ไหน คนทำวิชาชีพสื่อต้องยับยั้งชั่งใจ ต้องกรอง ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ต้องดูว่าบริบทของเรื่องเป็นอย่างไร เช่นถ้าเรารู้ว่ากรณีมีความไม่เป็นปกติ หน้าที่ของสื่อคือต้องไปหาข้อมูลมาดูว่าอะไรคือความไม่ปกติ
“สำหรับมุมตำรวจ ตำรวจเองก็ประเมินนักสืบโซเชียลผิด ไม่คิดว่าโซเชียลจะไปเร็วมาก ทั้งที่คดีนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร และเจ้าหน้าที่อาจจะมีบทสรุปไว้แล้ว แต่ไม่กล้าบอก เพราะกลัวว่าทัวร์จะลง มาจากคนส่วนใหญ่ที่ฟันธงไปแล้วว่าบทสรุปเกิดจากอะไร บทเรียนของการรายงานข่าวนี้เกิดประเด็นที่เราน่าไปทำเช่น เรือในแม่น้ำเจ้าพระยามีเยอะขึ้น มีบริษัทที่เปิดให้เช่าเจ็ทสกีเพื่อขับท่องเที่ยว ทำยังไงจะให้มีคนตกนำในแม่น้ำแล้วรอดตาย เพราะสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำในกรณีแบบนี้คือการหาศพไม่ใช่ช่วยชีวิต ไม่มีเจ้าหน้าที่ช่วยกู้ชีพคน สำหรับสื่อเองต้องทบทวนว่าเราจะรายงานข่าวแบบนี้ในมุมมองไหนได้บ้างนอกจากเรื่องฆาตรกรรม หรือเอาเรื่องโซเชียลมีเดียมารายงานอย่างเดียว สื่อต้องทบทวนบทบาทว่าจะรายงานอะไร เรื่องนี้สื่อต้องตั้งหลักช่วยกันคิดทบทวนว่า คนดูจะได้อะไรจากข่าว ไม่ใช่จะพูดหรือจะหยิบยกวาทกรรมอะไรก็ได้ มารายงานหวังเพียงสร้างกระแส สื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ตลอดเวลา”
รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในมุมมองของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ถ้าข้อมูลที่เกิดขึ้นมันล้นมากเกินไปก็ทำให้การทำงานมีความลำบาก การทำข่าวสืบสวนสอบสวน มีขั้นตอนตั้งแต่พอมีเรื่องเกิดขี้น ต้องหาว่าประเด็นอยู่ตรงไหน ความลึกลับซับซ้อนอยู่ตรงไหน พอตั้งประเด็นแล้วจึงหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่ามีความเป็นไปได้ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร จุดสำคัญคือการประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูลและหลักฐานว่าอะไรน่าเชื่อถือแค่ไหน ยิ่งมีข้อมูลมากก็เป็นโอกาสที่จะเข้าถึงความจริง ไม่ควรเอาประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนหรือเรื่องที่หาข้อมูลจนครบถ้วนเอามารายงานก่อนจะได้ข้อสรุป การชี้ประเด็นโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ควรรีบเร่งไป เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ควรทยอยอธิบายให้ข้อมูลเพื่อให้คนที่รู้เรื่องนั้นช่วยให้ข้อมูล นอกจากนี้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้น้ำหนักของข่าวมีประโยชน์มากขึ้น
“ปรากฏการณ์นี้พอมีข้อมูลเกิดขึ้นทุกคนจะไปหยิบข้อมูลมาโดยไม่ได้ดูว่าได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วหรือยัง การรายงานข่าวไม่ได้เป็นการอธิบายให้ข้อมูล กลายเป็นการใส่ความเห็นเล่าข่าวไป”
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ของสื่อกลายเป็นตัวตั้งสำคัญในการกำหนดการรายงานข่าว เราเริ่มเห็นแหล่งข่าวบางคนที่ลุกขึ้นมาสู้กับสื่อ มีการพิทักษ์สิทธิตัวเอง จากภาพเดิมๆ ที่แหล่งข่าวถูกสัมภาษณ์อะไรก็ยอมพูด แต่มีการเลือกที่จะตอบนักข่าวโดยรักษาสิทธิของตัวเองว่าอะไรที่ควรจะตอบหรือไม่ตอบอะไรกับสื่อ และเมื่อเราจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพการสื่อสาร สังคมไทยควรให้โอกาสที่จะให้ทุกฝ่ายได้พูด เสรีภาพในการพูดเป็นเรื่องสำคัญไม่ควรมีใครมาบอกว่าเรื่องนี้พูดได้หรือพูดไม่ได้
มีข้อเสนอในฐานะผู้ชมควรเเยกแยะว่าเรากำลังดูอะไรจากโทรทัศน์ การติดตามข่าว ข่าวที่มีคุณค่าไม่จำเป็นต้องเร็วที่สุด เลือกเอาความถูกต้อง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เเสดงพลังผู้ใช้สื่อ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนกับคนทำงานเเละสปอนเซอร์
สื่อควรหาบริบทที่น่าสนใจมานำเสนอ การเก็บข้อมูลในงานข่าวสืบสวนสอบสวนเเละคัดกรองก่อนนำมานำเสนอ การเอาปากกามาวงว่าอะไรจริงเท็จควรทำหลังบ้าน ไม่ใช่หน้าจอ สร้างความเชี่ยวชาญหรือชำนาญของสื่อ เช่น ไทยพีบีเอส มีศูนย์ภัยพิบัติ จากเรื่องนี้ก็อาจจะสร้างคนที่มีความชำนาญเรื่องข่าวสืบสวนสอบสวน สร้างความร่วมมือกับนายทุน สิ่งที่คนอยากรู้ (กำไร เรตติ้ง) เเละต้องรู้ (เเง่มุมเพิ่มเติมที่จะได้เรียนรู้) การกำกับดูเเลสื่อมีหลายวิธี ทั้งการใช้กฎหมาย Legal Control ซึ่งควรใช้ให้น้อย การใช้พลังโดยประชาชน Public Control ที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นให้มาก การใช้กลไกของพรบ.จริยธรรม จะทำให้สภามีอำนาจทางกฎหมาย โดยให้ข้อสังเกตเรื่อง Dilemma ขององค์ประกอบสภา ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้นายทุนเเละการเเทรกเเซงของผู้มีอำนาจหรือไม่อย่างไร และการให้สื่อควบคุมกันเอง Self Control มีสภาวิชาชีพกำกับจริยธรรม ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เเต่มีหน้าที่ตรวจสอบเเละออกเเถลงการณ์เตือน ในต่างประเทศมีการผลักดันให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนในสภาวิชาชีพเพื่อลด Conflict of Interest สำหรับสถาบันการศึกษา ควรสร้างเเละปลูกฝังให้นักศึกษาเห็นความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตนเเละส่วนรวม “ฝึกนักศึกษาให้สามารถเล่าเรื่องหนักให้สนุกได้”
ขณะที่ นางสาวพรวดี ลาทนาดี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า สำหรับคนอ่านข่าว ได้ติดตามข่าวจากกลุ่มไลน์กู้ภัยมาตลอด พอมาอ่านข่าวช่วงแรกได้รายงานว่าอยู่ในขั้นตอนการค้นหา เราคิดตลอดว่าจะต้องให้ข้อมูลอะไรกับคนดูบ้าง เราอาจจะสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ยังมีห้องในคลับเฮาส์ตั้งกลุ่มพูดคุยกัน และมีคนติดตามข้อมูลเหล่านั้นมาถามเรา พอมันเกิดแบบนี้ขึ้นเรื่องต้องประเมินแล้วว่านี้ไม่ใช่ข่าวธรรมดา เราเห็นเลยว่าคนดูข่าวรอดูอะไร เชื่ออย่างไร แพลตฟอร์มการเล่าข่าวกลายเป็นรูปแบบการเสนอข่าวที่คนทั่วไปคุ้นชิน คนดูไม่อยากมาฟังคนอ่านให้ฟัง แต่อยากฟังคนมาสรุปแล้วเล่าให้ฟัง อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าทำไมสื่อถึงไม่คัดกรองว่าข้อมูลจริงๆ เป็นอย่างไร การที่มีการนำประเด็นในโซเชียลมารายงาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่คนสนใจ มีส่วนดึงคนให้เข้ามาติดตามข่าวในสื่อและแพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับคนอ่านข่าว เรามีการหาข้อมูลของเราแล้วประเมินได้ว่าประเด็นใดควรนำเสนออย่างไร ถ้าเราเอาประเด็นที่เกิดในโซเชียลไปรายงานทั้งหมดเราอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องที่ควรจะมีน้ำหนักไม่ได้รับความสนใจ กลายเป็นการทำให้สังคมไม่ได้รับข้อมูลที่ควรจะรู้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโทรทัศน์ทุกวันนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ทุกคนสามารถเป็นผู้เล่าเรื่องได้หมด สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมของคนเล่าเรื่อง คือ การที่ผู้ดำเนินรายการไปพิพากษาใครสักคนบนหน้าจอ ถ้าเรายืนอยู่บนหลักการของคนบนหน้าจอเราควรทบทวนบทบาทของเราควรเป็นอย่างไร ลูกกระสุนที่ยิงตรงไปยังผู้รับสารใช่สิ่งที่เราควรยิ่งไหม เรามีสิทธิที่จะพูดจะคิดอะไรก็ได้ เราควรคิดว่าเมื่อเราพูดแล้วสังคมได้อะไร สังคมเสียอะไร เราต้องใช้วิจารณญาณในการบริหารจัดการเนื้อหาบนหน้าจอ โดยให้ความสำคัญของเนื้อหาที่ควรเสนอ ผู้ประกาศข่าวไม่ควรมีบทบาทเป็นผู้พิพากษาบนหน้าจอ สื่อควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ไม่สร้างความเกลียดชังกัน ผู้ดำเนินรายการต้องมีความละเอียดอ่อนต่อเนื้อหาและรู้จักคิดที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม