นักศึกษาวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์แผนการรับรู้และระดมทุน เพื่อเด็กที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่

     นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไอเดียคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแผนการรับรู้และระดมทุนให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพื่อเด็กที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่

     "ทีมอมยิ้ม" นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย น.ส.พรนภัส ติณะมาศ น.ส.สุชานรี แซ่ตั๋น น.ส.กัญญ์วรา ยาวิชัย และนายเนคินทร์ วันทอง และ "ทีม Merry Christmas and Happy New Year" ประกอบด้วย น.ส.กษิรา ตั้งคุณาภรณ์ น.ส.ณัชชารีย์ สุขสวัสดิ์ น.ส.ณิชาพร ณ พัทลุง และนายฐฌานันท์ จันทร์แก้วแร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “แผนการรับรู้และระดมทุน" ให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม โดยผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ทีม จะได้รับโอกาสฝึกงานที่บริษัท Dexer Bangkok

     วันนี้เรามาคุยกับหนึ่งในทีมที่ชนะการประกวดอย่าง ทีม Merry Christmas and Happy New Year โดยทางทีมเล่าว่า แผนงานการสร้างการรับรู้และระดมทุนนี้ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการระดมทุนจากปัญหาโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอดเงินบริจาคภายในมูลนิธิลดลง จึงทำให้เกิดการคิดแผนงานการระดมทุนภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยิ้มต่อความหวัง สร้างฝันเป็นจริง” ผ่านแคมเปญ “เติมยิ้มสร้างฝัน Smile for Hope” โดยมีแนวคิดว่า “ไม่เพียงแต่เด็ก ๆ ที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่เท่านั้นที่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ กลับไป แต่ในสถานการณ์โควิดและปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนวัยทำงานใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น กลุ่มคนที่บริจาคก็สมควรได้รับความหวังและกำลังใจในการใช้ชีวิตแต่แต่ละวันเช่นกัน”

     แผนงานจึงเน้นไปที่การให้กำลังใจและสร้างความหวังให้กันและกัน ระหว่างน้อง ๆ ผู้ป่วยและผู้บริจาค ผ่านเทรนด์ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของไทยเกี่ยวกับเครื่องราง-ของขลัง ไปจนถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความหมายเชิงบวก สื่อถึงการเสริมดวงชะตาชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งการเรียน การงาน การเงิน ความรัก ดึงดูดทรัพย์และโชคลาภ ไปจนถึงการคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ที่กำลังเป็นกระแสในหมู่วัยทำงานในปัจจุบัน จากความเชื่อนี้ทำให้เรานำความเชื่อดังกล่าวมาใช้ในเชิงบวก ทั้งการไปไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาเครื่องราง การเสริมดวงชะตา เสริมโชคด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ โดยกระแสมูเตลู ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด


  ทีม Merry Christmas and Happy New Year ได้เล็งเห็นว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้คนต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ทำให้ผู้คนมักไปพึ่งการดูดวงในศาสตร์ต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตมากขึ้น กระแสความเชื่อดังกล่าวจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมาก

     “พวกเราเห็นถึงโอกาสจากพฤติกรรมในช่วงสถานการณ์นี้ มาเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจกิจกรรม โดยหยิบกระแสดังกล่าวเข้ามารวมกับการสร้างความหวังซึ่งเป็นจุดขายของมูลนิธิ โดยให้น้อง ๆ ที่อยู่ในความดูแล-ของมูลนิธิได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการมอบความสุขเล็ก ๆ เป็นที่พึ่งทางจิตใจกับผู้บริจาค เป็นการผลัดกันให้ความหวังและกำลังใจกันและกัน ไม่เป็นเพียงผู้รับหรือผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว”

     แคมเปญ “เติมยิ้มสร้างฝัน Smile for Hope” เป็นแคมเปญที่มีขอบเขตการระดมทุนให้น้อง ๆ ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมีแนวคิดหลักให้น้อง ๆ ในมูลนิธิได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ ผ่านการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเครื่องรางนำโชคต่าง ๆ ได้แก่ การวาดรูประบายสีเพื่อนำไปเป็นวอลเปเปอร์มือถือ การให้เขียนคำอวยพร คำขอบคุณใส่ลงเครื่องรางโอมาโมริของญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องรางประเภทนี้เป็นถุงผ้าไหมขนาดเล็กปักลวดลายสวยงาม ปากถุงรูดเปิดได้ ด้านในมีเครื่องรางที่ทำด้วยกระดาษและเครื่องหอมต่าง ๆ เป็นการสร้างความรู้สึกดี สร้างกำลังใจและมอบความหวังให้ผู้บริจาคเงินท่ามกลางสถานการณ์โควิดและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

     โดยทางทีมคาดหวังหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มูลนิธิได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้รับเงินบริจาคที่สามารถนำไปช่วยเหลือน้อง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงจะสามารถเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะทำให้คนเล็งเห็นว่ายังมีเด็กอีกมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่นี้ด้วย

     “อยากขอฝากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพราะเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเด็กและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ทั้งผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มูลนิธิให้การช่วยเหลือ และขอขอบคุณมูลนิธิที่เลือกให้กลุ่มเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสให้น้อง ๆ ปากแหว่ง เพดานโหว่ และแผลไฟไหม้ให้ได้รับการช่วยเหลือ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะรางวัลนี้นับได้ว่าช่วยต่อแต้มบุญให้พวกเรา ให้ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้น” ทีม Merry Christmas and Happy New Year กล่าว

     ทั้งนี้ ทีม Merry Christmas and Happy New Year จะพัฒนาแผนงานด้วยการปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างดำเนินงานแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่อยอดให้แผนงานสามารถทำเป็นระบบอัตโนมัติได้ เพื่อให้คนภายในองค์กรสามารถนำแผนงานมาสานต่อและทำต่อไปได้