เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สมาคมวิชาการนิเทศศาสตร์และการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการสื่อสาร ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้นำเสนอบทความ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "การสื่อสารในยุค AI" โดย รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Breaking Boundaries: Media, Communication, and Social Transformation in the Age of AI and Brand Connectivity" โดย คุณภารุจ ดาวราย Chairman, Publicis Groupe และมีการแบ่งการนำเสนอบทความทางวิชาการ โดยแบ่งออกเป็น 15 กลุ่ม ดังนี้ 1.ตราสินค้ากับการสื่อสารการตลาด 2.สัญญะและภาพตัวแทน 3.ความหมายและการประกอบสร้าง 4.การสื่อสารในบริบทภาพยนตร์ 5.ศิลปินและแฟนด้อม 6.การสื่อสารการตลาดในบริบทของเพลง 7.พฤติกรรมผู้บริโภค 8.การสร้างคอนเทนต์บนสื่อออนไลน์ 9.การนำเสนอข่าว ประเด็น และภาพตัวแทน 10.สื่อออนไลน์และการเล่าเรื่อง 11.การสื่อสารการเมืองและการสื่อสารสาธารณะ 12.การเปิดรับสื่อและการรู้เท่าทันสื่อ 13.คุณลักษณะเฉพาะบุคคล 14.อินฟลูเอนเซอร์ 15.การสื่อสารองค์กร ต่อด้วยการนำเสนอบทความ ในประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การสร้างสรรค์ภาษาในโฆษณาเพื่อการขับเคลื่อนความหลากหลายในสังคม, อาชญากร ผู้ร้าย คนเลว การวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนในรายการอันไทเทิ้ลเคส (Untitled Case) ของแซลมอนพอดแคสต์ (Salmon podcast), การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม กรณีศึกษาภาพยนตร์โฆษณาไทย “Let Her Grow” ที่เผยแพร่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และวัยรุ่นกับการสื่อสารเพื่อสร้างความหมายมีมผีในห้อง การจัดประชุมวิชาการระดับชาติในครั้งนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับนำเสนอบทความทางวิชาการของเครือข่ายร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพงานวิชาการ งานวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิชาชีพ