TU-RAC เตรียมความพร้อมครูไทยในโลกยุคดิจิทัล เปิดหลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อ เพิ่มขีดความสามารถเด็กไทย ฉลาดทันสื่อ

สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU-RAC ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัวโครงการหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับประถมศึกษาและจัดฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ครอบคลุมสำหรับครูไทย เพื่อเตรียมความพร้อมครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ของผู้เรียน ในระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม Basil ชั้น 3 ห้อง โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์
 
สำหรับหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับประถมศึกษา เป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่าง TU-RAC และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะหลักที่สำคัญ และจำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร การรู้เท่าทันสื่อ และความเป็นพลเมืองดี โดยพัฒนาผ่านหลักสูตรฐานสมรรถนะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ และการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานโดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวัทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ครอบคลุมสำหรับครูไทย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างความรู้ และเสริมสร้างพลังให้ครูสามารถนำทางผู้เรียนในโลกของสื่อที่ซับซ้อนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ และเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนให้สามารถดำรงชีวิตได้ในยุคดิจิทัล
 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเปิดงานอบรม และเปิดตัวหลักสูตรการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ และการเสริมสร้างความฉลาดทางดิจิทัลในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ต้องการพัฒนาหลักสูตรนี้โดยให้ความสำคัญกับเด็ก และเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร และข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัย และไม่สร้างสรรค์ได้ง่าย รวมถึงครูไทยที่ปัจจุบันพบว่า 30% รู้สึกมั่นใจในการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ (ผลสำรวจในปี 2564 ที่ดำเนินการโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความเร่งด่วนในการเสริมสร้างศักยภาพของครูให้สามารถนำทักษะการรู้เท่าทันสื่อไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการ และร่วมพัฒนาหลักสูตรนี้ให้สมบูรณ์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของครูที่เข้าร่วมอบรมทุกท่าน และช่วยให้เด็ก ๆ สามารถใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ เผชิญหน้ากับโลกดิจิทัลที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
 
ด้าน ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สำหรับหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับชั้นประถมศึกษา เราได้เป็นผู้พัฒนาหลักสูตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมาย การรับฟังความคิดเห็น และการทดลองใช้หลักสูตรนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และถือเป็นการเปิดโอกาสให้เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งกับภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยสามารถพัฒนาจนนำไปสู่การใช้หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อระดับชั้นประถมศึกษาไปได้ในวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้เราได้มีการวางแผนการจัดการการฝึกอบรมทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ครอบคลุมสำหรับแกนนำครูไทย ครอบคลุมพื้นที่ 6 ภูมิภาค ในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ เพื่อให้ครูในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตรนี้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการช่วยปูพื้นฐานความรู้ และเตรียมความพร้อมในการใช้หลักสูตรด้านการรู้เท่าทันสื่อให้ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา ร่วมถึงการนำหลักสูตรด้าน MIDL ไปปรับใช้ในการสอนในสถานศึกษาได้อย่างเห็นผล”