แนะถอนร่างฯ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ทบทวนใหม่
วงเสวนากฎหมายคุมสื่อแนะถอนร่างฯ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ทบทวนใหม่
งานเสวนาวิชาการ สื่อมวลชน นักวิชาการ เชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ร.บ.PDPA) มีช่วยสื่อทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ห่วง(ร่าง) พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ จุดอ่อนมากว่าจุดแข็ง นิยามกว้าง มุ่งควบคุมมากกว่าส่งเสริม เน้นตั้งสภาวิชาชีพ ห่วงที่มากรรมการหากไม่เข้าใจการทำงาน บริบทและระบบนิเวศอาจสร้างความเสียหาย
การเสวนาวิชาการ โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “จาก พ.ร.บ.คอม PDPA จนถึง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ หรือจริยธรรมจำต้องกำหนดด้วยกฎหมาย” โดยเชิญตัวแทนจากผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนอาชีพมาร่วมให้มุมมอง ต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ (ร่าง) พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ และสถานการณ์สื่อที่มีผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อสารมวลชนกระแสหลัก เข้ามาทำหน้าที่ผลิตเนื้อหา
โดย นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า กฎหมายที่สื่อใช้ประกอบการทำงานมีมากเพียงพอต่อการดูแลการทำหน้าที่ของสื่อ ส่วนตัวมองว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ.คอม มีความเพียงพอที่จะบังคับใช้ได้ ต่อมาเมื่อจะมีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยจริยธรรมสื่อ จึงเกิดการตีความว่าจะมีผลบังคับใช้ถึงใครบ้าง
“ถ้าทำงานผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Tiktok หรือคนไม่ได้ทำงานสื่อแต่ใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียสร้างตัวตน หรือหารายได้กฎหมายจะครอบคลุมคนเหล่านี้หรือไม่ พอกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผลบังคับใช้ ทำให้มีคำถามว่า คนที่ทำสื่อออนไลน์ ผลิตเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ไม่มีจริยธรรม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมาจัดการผู้ผลิตเนื้อหาได้หรือเปล่า”
นายระวี กล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ทำสื่อออนไลน์มองว่าการมีกฎหมายมาดูแลสิทธิเป็นเรื่องดีเพราะมีผู้ผลิตเนื้อหานำเอาข่าวของคนอื่นมาเล่าต่อแล้วไม่ได้คำนึงถึงจริยธรรม ไม่ได้มีการขออนุญาตแหล่งข่าวมาก่อน เมื่อเอาเนื้อหาของคนอื่นไปใช้แล้วไม่มีความรับผิดชอบก็ควรมีกฎหมายเข้ามาดูแล ปัจจุบันการทำหน้าที่สื่อมีกฎหมายหลายฉบับเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลน่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นยังอยู่ได้
“การมีกฎหมาย PDPA เป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในสังคม คนทำสื่อมีความเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คนทำสื่อและคนทำธุรกิจสื่อ คือ ช่องว่างของคนที่ไม่ได้เป็นสื่อ แต่ใช้ช่องว่างของสื่อเข้ามาหารายได้ ด้วยการเอาเนื้อหาที่สื่อมวลชนมาเผยแพร่เพื่อสร้างรายได้ การมีกฎหมาย PDPA จะช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ กฎหมาย PDPA ช่วยเรื่องการทำหน้าที่ได้มาก”
ส่วนการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ มีการให้ภาพสื่อมวลชนที่กว้างครอบจักรวาลเกินไป แม้ว่าในการประชุมจัดทำร่างจะพยายามให้ความชัดเจนความเป็นสื่อมวลชน แต่ค่อนข้างทำได้ยากเพราะ ระบบนิเวศสื่อมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อกังวลเรื่องสภาวิชาชีพอีกประเด็นคือสภาต้องไม่ถูกจำกัดหรือจัดการโดยรัฐ ขอเป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจระหว่างสื่อมวลชนกับผู้ยกร่างกฎหมายให้ได้กฎหมายออกมาดีที่สุด
นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The Matter กล่าวว่า การทำหน้าที่สื่อมีกฎหมายคุ้มครองคนที่เป็นแหล่งข่าวและคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีองค์กรวิชาชีพทำหน้าที่ดูแลด้านจริยธรรม ส่วนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในประเด็นมาตรา 4 (3) ผู้ยกร่างให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สื่อว่ามีผลกระทบกับสิทธิของผู้อื่นหรือไม่ ไม่ได้คำนึงว่าตัวสื่อต้องเป็นสื่อกระแสหลัก หรือต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐหรือไม่ เพราะมีแนวโน้มว่าสื่อจะต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐซึ่งคนที่ทำหน้าที่สื่อทุกคนไม่ต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนเลย
“เราคงต้องเอาใจช่วยให้คนที่เข้าไปเป็นกรรมการใน พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ เป็นคนเข้าใจกฎหมาย เข้าใจคนที่เข้าใจระบบนิเวศของสื่อ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงสื่อ ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ร่างปัจจุบันดีกว่าร่างที่เคยมีมาแต่มีประเด็นที่หน้ากังวลหลายประเด็นซ่อนอยู่ หัวใจของ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ คือ การตั้งสภาวิชาชีพสื่อขึ้นมาเป็นองค์กรใหม่อีกองค์กร ปัจจุบันมีองค์กรวิชาชีพสื่ออยู่แล้วและยังมีการตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น จึงมีคำถามว่าประโยชน์ของการมีองค์กรวิชาชีพใหม่จะมีประโยชน์อย่างไร ขณะที่ภาควิชาการควรรวบรวมข้อมูลเป็นพื้นฐานเพื่อนำมาพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น”
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชได้ดีระดับหนึ่ง ดังนั้นการเสนอร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ มีข้อดีน้อยกว่าจุดอ่อน ไม่มีใครเคยเห็นร่างฯ นี้มาก่อน ไม่เคยมีใครรู้ว่าผ่าน ค.ร.ม. เมื่อใด อยู่ดี ๆ ก็เสนอเข้าสู่สภา เมื่อเห็นเนื้อหาและนำมาพิจารณาเนื้อหาพบว่า ชื่อ พ.ร.บ. ชื่อการส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ แต่เนื้อหาเต็มไปด้วยการกำกับการทำหน้าที่ และรายละเอียดของการตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ ความเห็นส่วนตัว ถ้าร่างกฎหมายนี้มุ่งปฏิรูปประเทศ ควรถอนร่างกฎหมายออกมาทบทวน รับฟังความเห็นแล้วพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ควรรีบเร่งในการผลักดันร่างกฎหมาย
นางสาววศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว WorkpointToday สมาชิก DemAll (สื่อพลเมือง) กล่าวว่า สิ่งที่สื่อพลเมืองหรือสื่ออิสระกังวลคือ การนิยามความเป็นสื่อ ส่วนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมองว่าเป็นกฎหมายที่ดี เพราะกฎหมายยกเว้นการบังคับใช้กับการทำงานที่เป็นไปตามจริยธรรมสื่อสารมวลชนและวิชาชีพ สะท้อนว่ากฎหมาย เปิดกว้างการทำหน้าที่่สื่อ ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมสื่อ ที่สื่อนั้นจะถูกพิจารณาทันทีว่าได้ขึ้นทะเบียนกับองค์กรตามกฎหมายหรือไม่ และจะมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล
“สื่อส่วนใหญ่ไม่รู้รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ การที่ร่างกฎหมายจะออกมาดูคนสื่อ ควรจะให้มีการแสดงความคิดเห็น ถ้ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ดี ควรตกผลึกกับกฎหมายนี้ให้ดีก่อนและให้สื่อทุกคนมีส่วนแสดงความคิดเห็น”
ดร.คันธีรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คอม และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้สร้างมาเพื่อสื่อ แต่สร้างมาเพื่อทุกคน ดังนั้นการนำกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้กับสื่อจึงต้องนำมาใช้ให้มีความเหมาะสม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้จะมีการยกเว้นการทำหน้าที่สื่อแต่ด้วยการไม่มีนิยามว่า สื่อมวลชนเป็นใคร อาจจะมีการตีความกว้างออกไป เมื่อกฎหมายบังคับใช้และมีความพยายามที่จะดูแลจริยธรรมสื่อ อาจทำให้มีคำถามตามมาใครที่จะได้รับการคุ้มครองสำหรับ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีแรก การควบคุมสื่อเดิมควบคุมผ่านคนที่มาจากภาครัฐ โดยใช้กลไกของกฎหมายอาญา ขณะที่(ร่าง) พ.ร.บ. ฯ มีกรรมการมาจากการสรรหา มีทั้งตัวแทนจากสื่อ ภาครัฐ และเอกชน ข้อดีคนไม่ใช่กรรมการที่มาจากภาครัฐทั้งหมดแต่ยังมีความเป็นห่วงว่าใครที่จะมาเป็นกรรมการ ถ้าเป็นคนดี มีทัศนคติด้านบวก มีการตีความในมุมมองที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริง ๆ เข้ากับเทคโนโลยีและเพศสภาพ ปัญหาจะไม่เกิดถ้าคนที่มาไม่มีสิ่งเหล่านี้ปัญหาจะเกิดขึ้น ข้อดีอีกข้อคือการมีงบประมาณสนับสนุนไม่ต้องพึ่งพาเอกชน แต่มีข้อกังวลว่ากรรมการจะอนุมัติกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างไร สำหรับข้อเสีย นิยามไม่ชัดตีความสับสนคลุมเครือ การมีหน่วยงานที่วิชาชีพเพิ่มขึ้นอาจสร้างความสับสนกับหน่วยงานวิชาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถัดมาคือการคาดหวังการกำกับดูแลการควบคุม ทำให้การคาดหวังทางด้านจริยธรรมน้อย สุดท้ายคือ บทลงโทษที่กำหนดไว้ คำถามคือ ใครมีอำนาจในการตัดสินและพิจารณาบทลงโทษที่แท้จริง ในร่างฯกำหนดให้กรรมการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณา