เกี่ยวกับคณะ

ประวัติของคณะ

พ.ศ. 2497

     แผนกวารสารศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนวิชาการ สาขาวารสารศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2497 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 11 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2497) มีหลักการและเหตุผลโดยย่อว่า เพื่อส่งเสริมการศึกษาในด้านการสังคมสงเคราะห์และวารสารศาสตร์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2497    

     สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ตราข้อบังคับให้แบ่งแยกแผนกวิชาภายในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และแผนกวารสารศาสตร์ ให้เปิดการศึกษาวิชาทั้งสองแผนกดังกล่าวตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2497 (ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการแบ่งแยกแผนกวิชาภายในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พ.ศ. 2497 ประกาศ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497) และแต่งตั้งให้อาจารย์พิชญ์ รพิพันธ์ เป็นหัวหน้าแผนกวารสารศาสตร์ ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยกำหนดเรียกชื่อปริญญาและอักษรย่อไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ที่สอบไล่ได้ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรี ในแผนกวิชาวารสารศาสตร์ จะได้รับปริญญา

    ผู้ได้ปริญญาญาตรี เรียกว่า "วารสารศาสตร์บัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "ว.บ."
    ผู้ได้ปริญญาโทเรียกว่า "วารสารศาสตร์มหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "ว.ม."
    ผู้ได้ปริญญาเอกเรียกว่า "วารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "ว.ด."
    สีประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ "สีเม็ดมะปราง"

 

พ.ศ. 2509

     ในปีการศึกษา 2509 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อนุมัติให้คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เปิดการศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ ภาคค่ำ ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยฐานะของนักหนังสือพิมพ์อาชีพให้สูงขึ้น รวมทั้งพัฒนาการสื่อสารมวลชนทางด้านหนังสือพิมพ์ และขยายบริการการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยให้มีหลักสูตรการศึกษา 3 ปี ผู้ที่สอบไล่ได้ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์

 

พ.ศ. 2512

     ในปีการศึกษา 2512 มีการปรับปรุงการศึกษาภาคค่ำของแผนกวารสารศาสตร์ใหม่ โดยระงับการรับสมัครเข้าศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ และเปิดสอนระดับปริญญาตรีแทนในปีการศึกษาเดียวกันนั้น โดยใช้เวลาในการศึกษา 6 ปี ผู้ที่สอบไล่ได้ครบทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรจะได้รับปริญญาวารสารศาสตร์บัณฑิต มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนวารสารศาสตรบัณฑิตหลักสูตรการศึกษา 4 ปี ทุกประการ

 

พ.ศ. 2513

     การศึกษาในด้านวารสารศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 แผนกวารสารศาสตร์ จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ดังราชกิจจานุเบกษา เล่ม 87 ตอนที่ 116 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2513 ให้ไว้ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2513

 

พ.ศ. 2522

     เนื่องจากการศึกษาในสาขาวิชาสื่อสารมวลชนได้เจริญก้าวหน้าและขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้ขอยกฐานะแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนขึ้นเป็น "คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน" ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเรียกชื่อปริญญา การใช้อักษรย่อสำหรับปริญญาและครุยวิทยฐานะในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2522 ให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ดังราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 201 วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2522 และประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "ให้มีสำนักงานเลขานุการในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน" ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

 

พ.ศ. 2534

     ในปี พ.ศ. 2534 มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรวบรวมการเรียกชื่อปริญญาและสีประจำสาขาวิชาทั้งของสาขาวิชาเดิมและสาขาวิชาใหม่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกัน และพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้มีการสะกดชื่อปริญญาของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนแตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย โดยตัดเครื่องหมายทัณฑฆาต (  ์ ) ที่ตัว "ร" ท้ายคำว่า "ศาสตร์" ออก (ดังพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2534 ให้ไว้ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 122 วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 (7) สาขาวิชาวารสารศาสตร มีปริญญาสามชั้นและกำหนดสีของคณะ คือ

    (ก) เอก เรียกว่า "วารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ว.ด."
    (ข) โท เรียกว่า "วารสารศาสตรมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ว.ม."
    (ค) ตรี เรียกว่า "วารสารศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ว.บ."
    สาขาวิชาวารสารศาสตร์ "สีเม็ดมะปราง"

 

     ในคราวประชุมคณบดี ครั้งที่ 7/2533 เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2533 ได้มีมติให้คณะใหม่ไปพิจารณาเลือกสีประจำคณะที่ไม่ซ้ำกับคณะเก่า สำหรับคณะเก่าก็ขอให้กำหนดสีที่ชัดเจนด้วย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนจึงนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ ครั้งที่ 3/2533 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2533 ที่ประชุมมีมติกำหนดให้ สีม่วง"เม็ดมะปราง" เป็นสีประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเป็นต้นมา

 

ปัจจุบันคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนแบ่งการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่มวิชา ดังนี้

    1. กลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ (Journalism)
    2. กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ (Radio and Television)
    3. กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย (Film and Photography)
    4. กลุ่มวิชาโฆษณา (Advertising)
    5. กลุ่มวิชาสื่อสารองค์กร (Corporate Communication)
    6. กลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร (Communication Management)

 

     เพื่อให้การศึกษาและวิจัยทางวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ด้านวารสารศาสตร์ การสื่อสาร การผลิตสื่อ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ โฆษณา และการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการบริหารการสื่อสารแก่นักศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญสามารถวินิจฉัยและตัดสินปัญหาของสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะไปใช้ในการประกอบวิชาชีพวารสารศาสตร์ มีจริยธรรมและสำนึกต่อสังคม มีความรู้และทักษะในวิชาชีพ

 

      คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมีอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการครบสมบูรณ์ เช่น สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ A.M. Stereo ความถี่ 981 กิโลเฮิตซ์ กำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ส่งกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 11.00-16.00 น เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ แลวันหยุดนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีห้องตัดต่อ ห้องบันทึกเทป ห้องออกอากาศ และห้องปฏิบัติการโทรทัศน์ ห้องถ่ายภาพยนตร์และห้องปฏิบัติการถ่ายภาพ ห้องปฏิบัติการภาพพิมพ์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการหนังสือพิมพ์ โดยออกหนังสือพิมพ์ "มหาวิทยาลัย" ออกเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์และจัดทำนิตยสาร "ยูงทอง" ออกเป็นรายภาคการศึกษา ทำให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้และฝึกฝนให้เกิดประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพอย่างสมบูรณ์

 

     ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สามารถเข้าทำงานในกรมประชาสัมพันธ์ กรมวิเทศสหการ และหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของหน่วยราชการและองค์กรธุรกิจ ตลอดจนงานด้านหนังสือพิมพ์ หรือผู้จัดรายการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ รวมทั้งเป็นนักโฆษณาและนักประชาสัมพันธ์ พิธีกร หรืออาจดำเนินงานธุรกิจของตนเองโดยอิสระ