คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “เมื่อสื่อมวลชนกลายเป็นผู้เล่นหลักในสายตาผู้รับสาร : ทบทวนบทบาทสื่อจากข่าวกรณีดาราพลัดตกเรือ” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดงาน ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน มาร่วมแสดงความเห็น วิทยากรประกอบด้วย คุณอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าวสามมิติ คุณคณิศ บุณยพานิช บรรณาธิการกลุ่มข่าวสืบสวน ThaiPBS คุณพรวดี ลาทนาดี ผู้ประกาศข่าว ThaiPBS รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวารสารศาสตร์ และผศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร
ผศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อพบร่างของผู้สูญเสีย สิ่งที่ตามมาคือการที่สังคมพยายามหาเหตุผล พยายามหาข้อมูลเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดทั้งข่าวจริงและข่าวลวง ข่าวจึงเปลี่ยนจากข่าวธรรมดาเป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการข่าวสามมิติ กล่าวว่า ครั้งแรกที่ทราบเรื่องคิดว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่คนให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือ ไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องบานปลาย กลายเป็นประเด็นกระหึ่มโลกโซเชียล กลายเป็นโลกโซเชียลคุมโลกสื่อมวลชนปกติไปอย่างสิ้นเชิง คิดว่าต้องติดตามทำข่าวเรื่องนี้ไปสัก 5-6 วันเรื่องคงได้ข้อสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่คิดว่าจะบานปลายจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์จนมาถึงวันนี้ ยาวนานจากห้าวันเป็นครึ่งเดือนเป็นเดือน ทำให้รู้สึกว่าประสบการณ์ของของนักข่าวที่ทำงานกว่า 30 ปี ต้องมาประเมินเรื่องนี้อย่างลำบาก กลายเป็นเรื่องที่ตำรวจเองก็ไม่กล้าที่จะสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือ มีประเด็นใหม่ ๆ ที่มีเหตุมีผลและไม่มีเหตุผลเกิดขึ้นมาก
ด้าน นายคณิศ บุญยพานิชย์ บรรณาธิการกลุ่มข่าวสืบสวนไทยพีบีเอส กล่าวว่า ข่าวแตงโม (นิดา พัชรพีระพงษ์) เป็นปรากฏการณ์ข่าวที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่เคยเจอเรื่องราวที่ไปไกลจนไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ วันแรกที่เจอนักข่าวไปทำงานตามปกติ คนที่ทำข่าวอาชญากรรมต้องคิดว่าต้องอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น การเสียชีวิตของคนดังก็เหมือนข่าวข่าวหนึ่ง ที่ต้องไปหาเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น ในการรายงานข่าวสื่อกระแสหลักบางทีก็เชื่อโซเชียลแล้วมารายงาน กลับกลายเป็นสื่อเอาโซเชียลมีเดียมาเป็นแหล่งข่าว แล้วรายงานในสิ่งที่โซเชียลรายงาน สื่อเอาสิ่งที่นักสืบออนไลน์ไปหามามารายงานมาขยายความต่อ ทำให้ประเด็นไปไกล แทนที่สื่อจะทำงานไปตามขั้นตอนในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน
รศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในมุมมองของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ถ้าข้อมูลที่เกิดขึ้นมันล้นมากเกินไปก็ทำให้การทำงานมีความลำบาก การทำข่าวสืบสวนสอบสวน มีขั้นตอนตั้งแต่พอมีเรื่องเกิดขึ้น ต้องหาว่าประเด็นอยู่ตรงไหน ความลึกลับซับซ้อนอยู่ตรงไหน พอตั้งประเด็นแล้วจึงหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่ามีความเป็นไปได้ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร จุดสำคัญคือการประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูลและหลักฐานว่าอะไรน่าเชื่อถือแค่ไหน ยิ่งมีข้อมูลมากก็เป็นโอกาสที่จะเข้าถึงความจริง ไม่ควรเอาประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนหรือเรื่องที่หาข้อมูลจนครบถ้วนเอามารายงานก่อนจะได้ข้อสรุป การชี้ประเด็นโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนไม่ควรรีบเร่งไป เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ควรทยอยอธิบายให้ข้อมูลเพื่อให้คนที่รู้เรื่องนั้นช่วยให้ข้อมูล นอกจากนี้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้น้ำหนักของข่าวมีประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ของสื่อกลายเป็นตัวตั้งสำคัญในการกำหนดการรายงานข่าว เราเริ่มเห็นแหล่งข่าวบางคนที่ลุกขึ้นมาสู้กับสื่อ มีการพิทักษ์สิทธิตัวเอง จากภาพเดิม ๆ ที่แหล่งข่าวถูกสัมภาษณ์อะไร ก็ยอมพูด แต่มีการเลือกที่จะตอบนักข่าวโดยรักษาสิทธิของตัวเองว่าอะไรที่ควรจะตอบหรือไม่ตอบอะไรกับสื่อ และเมื่อเราจะให้ความสำคัญกับเสรีภาพการสื่อสาร สังคมไทยควรให้โอกาสที่จะให้ทุกฝ่ายได้พูด เสรีภาพในการพูดเป็นเรื่องสำคัญไม่ควรมีใครมาบอกว่าเรื่องนี้พูดได้หรือพูดไม่ได้
ขณะที่ น.ส.พรวดี ลาทนาดี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า สำหรับคนอ่านข่าว ได้ติดตามข่าวจากกลุ่มไลน์กู้ภัยมาตลอด พอมาอ่านข่าวช่วงแรกได้รายงานว่าอยู่ในขั้นตอนการค้นหา เราคิดตลอดว่าจะต้องให้ข้อมูลอะไรกับคนดูบ้าง เราอาจจะสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ยังมีห้องในคลับเฮาส์ตั้งกลุ่มพูดคุยกัน และมีคนติดตามข้อมูลเหล่านั้นมาถามเรา พอมันเกิดแบบนี้ขึ้นเรื่องต้องประเมินแล้วว่านี้ไม่ใช่ข่าวธรรมดา เราเห็นเลยว่าคนดูข่าวรอดูอะไร เชื่ออย่างไร แพลตฟอร์มการเล่าข่าวกลายเป็นรูปแบบการเสนอข่าวที่คนทั่วไปคุ้นชิน คนดูไม่อยากมาฟังคนอ่านให้ฟัง แต่อยากฟังคนมาสรุปแล้วเล่าให้ฟัง อาจจะมีคนตั้งคำถามว่าทำไมสื่อถึงไม่คัดกรองว่าข้อมูลจริง ๆ เป็นอย่างไร การที่มีการนำประเด็นในโซเชียลมารายงาน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่คนสนใจ มีส่วนดึงคนให้เข้ามาติดตามข่าวในสื่อและแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับคนอ่านข่าว เรามีการหาข้อมูลของเราแล้วประเมินได้ว่าประเด็นใดควรนำเสนออย่างไร ถ้าเราเอาประเด็นที่เกิดในโซเชียลไปรายงานทั้งหมดเราอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องที่ควรจะมีน้ำหนักไม่ได้รับความสนใจ กลายเป็นการทำให้สังคมไม่ได้รับข้อมูลที่ควรจะรู้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโทรทัศน์ทุกวันนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ทุกคนสามารถเป็นผู้เล่าเรื่องได้หมด สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมของคนเล่าเรื่อง คือ การที่ผู้ดำเนินรายการไปพิพากษาใครสักคนบนหน้าจอ ถ้าเรายืนอยู่บนหลักการของคนบนหน้าจอเราควรทบทวนบทบาทของเราควรเป็นอย่างไร ลูกกระสุนที่ยิงตรงไปยังผู้รับสารใช่สิ่งที่เราควรยิ่งไหม เรามีสิทธิที่จะพูดจะคิดอะไรก็ได้ เราควรคิดว่าเมื่อเราพูดแล้วสังคมได้อะไร สังคมเสียอะไร เราต้องใช้วิจารณญาณในการบริหารจัดการเนื้อหาบนหน้าจอ โดยให้ความสำคัญของเนื้อหาที่ควรเสนอ ผู้ประกาศข่าวไม่ควรมีบทบาทเป็นผู้พิพากษาบนหน้าจอ สื่อควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ไม่สร้างความเกลียดชังกัน ผู้ดำเนินรายการต้องมีความละเอียดอ่อนต่อเนื้อหาและรู้จักคิดที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม